ผ่านมาเป็นเวลากว่า 10 ปีกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดที่สามารถบันทึกได้ ณ วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 อ.แม่ลาว จ.เชียงราย ซึ่งสร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิต ทรัพย์สิน และเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงภัยพิบัติแผ่นดินไหวไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัว แต่สามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือซึ่งเป็นที่ตั้งของรอยเลื่อนทั้งขนาดเล็กและใหญ่ อีกทั้งยังสร้างความฉงนให้แก่วงการนักวิชาการและผู้เกี่ยวข้อง อาทิ เหตุใดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดไม่เกิดบนรอยเลื่อนขนาดใหญ่ในบริเวณภาคเหนือส่วนอื่นๆ หรือเหตุใดแผ่นดินไหวดังกล่าวเกิดบนรอยเลื่อนขนาดเล็กอย่างรอยเลื่อนพาน แทนที่จะเกิดบนรอยเลื่อนขนาดใหญ่กว่าซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงกันอย่างรอยเลื่อนแม่ลาว? ทำไมตำแหน่งความเสียหายสูงสุดของสิ่งปลูกสร้างไม่ได้อยู่ตำแหน่งเดียวกับจุดเกิดแผ่นดินไหว? หรือนักวิชาการคำนวณตำแหน่งเกิดแผ่นดินไหวผิด? ฯลฯ เป็นเวลากว่า 8 ปีที่ข้อถกเถียงดังกล่าวหาคำอธิบายไม่ได้ จนกระทั้งเกิดการวิจัยและต่อยอดผลงานวิจัยเชิงลึกทางด้านแผ่นดินไหววิทยา อาทิ สุทธิพงษ์ น้อยสกุล (2559), ภาสกร ปนานนท์ (2560), ถิร ธาดาพรรษวุฒิ (2565) ฯลฯ ท้ายที่สุดงานวิชาการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวใน อ.แม่ลาว เป็นแผ่นดินไหวที่มีความซับซ้อนสูง และการเกิดแผ่นดินไหวดังกล่าวเกิดขึ้นบน 2 รอยเลื่อนทั้งรอยเลื่อนพาน และรอยเลื่อนแม่ลาว มิใช่รอยเลื่อนเดี่ยวอย่างที่เข้าใจกันมาตลอด โดยกระบวนการเกิดแผ่นดินไหว (rupture process) เริ่มต้นจากตำแหน่งตอนเหนือของรอยเลื่อนพานและมีทิศทางการแตกตามรอยเลื่อนเคลื่อนลงไปทางทิศใต้ จากนั้นพลวัตของแผ่นดินไหว (dynamic rupture) กระตุ้นให้เกิดการแตกของแผ่นดินบริเวณตำแหน่งทิศตะวันออกของรอยเลื่อนแม่ลาวส่งผลให้เกิดการเคลื่อนตัวตามรอยเลื่อนไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งเป็นสาเหตุของความเสียหายสูงสุดที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าว รูปด้านล่าง
แม้จะผ่านมากว่า 10 ปี แผ่นดินไหว ณ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย ยังคงให้ความรู้ทางวิชาการใหม่ๆแก่วงการนักแผ่นดินไหววิทยาระดับโลก กล่าวคือ “แม้จะเป็นเพียงกลุ่มรอยเลื่อนขนาดเล็กเมื่อเทียบกับรอยเลื่อนอื่นๆบนโลก การแตกของรอยเลื่อนสามารถมีความซับซ้อนและสร้างแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้”