Blog

เคล็ดลับการเขียนข่าว เพื่อการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารองค์กรที่มีประสิทธิภาพในยุคดิจิทัล ของสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

ข้อมูลข่าวสาร นับเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง ขององค์กร หน่วยงานต่าง ๆ สิ่งที่สื่อสารออกไปจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังให้องค์กรได้รับประโยชน์จากการเผยแพร่ข่าวสารทุกครั้ง ข่าวสารที่มีคุณค่าต่อสังคม และใช้เทคนิคในการเขียนให้สอดคล้องกับแบบฉบับของสื่อแต่ละประเภท ย่อมจะได้รับการเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง ข่าว คือ การรายงานข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนความคิดเห็นของบุคคลสำคัญ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ การเขียนข่าวนั้น เป็นทั้งศาสตร์ และศิลป์ และต้องมีเทคนิคในการสร้างความเข้าใจและความสนใจแก่กลุ่มเป้าหมาย สำหรับการสร้างความเข้าใจ เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติงานที่ดีร่วมกัน

  • ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ควบคู่กับข่าวสารก็คือ เครื่องมือสื่อสารที่เหมาะสม ซึ่งต้องมีการเลือกให้ถูกต้องเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย โดยสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เลือกใช้การประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความเข้าใจ การส่งข่าวสาร บริการทางสารสนเทศต่าง ๆ ที่มีให้บริการ ผ่านสื่อเว็บไซต์ของหน่วยงานภายใต้โดเมนเนม (domain name) https://arit.rmutl.ac.th/  โดยแบ่งหมวดหมู่ของข่าว ดังนี้ คือ ๑.ข่าวประกาศประชาสัมพันธ์ ๒.ข่าวกิจกรรม ๓.คลังความรู้ ๔.RMUTL ช่อง@Youtube ๕.ข่าวแสดงความยินดี และ อื่นๆ ด้วยการบริหารจัดการ ตรวจทาน ความถูกต้อง และความสมบูรณ์ของข้อมูลสารสนเทศ บนเว็บไซต์หน่วยงาน และการอนุมัติ/การเผยแพร่ สารสนเทศ บทความข่าว กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับหน่วยงาน จากเว็บไซต์หน่วยงานอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัยฯ ก่อนขึ้นเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์หน่วยงาน จัดส่งข่าวให้กับกองประชาสัมพันธ์และหน่วยงานต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยฯ ที่เกี่ยวข้อง
  • โดยผู้เขียนจะขออธิบายขั้นตอนการปฏิบัติงานเขียนข่าว และการเผยแพร่ข่าวเพื่อการประชาสัมพันธ์ ของสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เท่านั้น

ขั้นตอนการเขียนข่าว เพื่อการประชาสัมพันธ์ ของสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา 

ขั้นตอนในการเขียนข่าว เพื่อการประชาสัมพันธ์ ผู้ปฏิบัติงานเขียนข่าว ควรศึกษารายละเอียด ข้อมูลต่างๆอย่างครบด้าน เพื่อให้งานข่าวที่เขียนออกมามีความสมบูรณ์ของเนื้อหาให้มากที่สุด โดยปฏิบัติตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • หาข้อมูล โดยการค้นคว้า รวบรวมข้อมูล และสัมภาษณ์
  • วางแผนการเขียน ศึกษากลุ่มเป้าหมายและนโยบายของสื่อที่จะส่งเผยแพร่
  • ร่างเนื้อหา รูปแบบ ภาษา ทบทวน
  • ประเมินผล โดยการอ่านทบทวนด้วยตนเอง หรือผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยอ่าน องค์ประกอบการเขียนข่าว ต้องบอกสิ่งสำคัญที่สุดก่อน แล้วจึงบอกสิ่งสำคัญรองลงมา


โดยทั่วไปการเขียนข่าวเพื่อการประชาสัมพันธ์ มีวิธีการเขียนที่แตกต่างกันอกไป ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของข่าวนั้นๆ ผู้เขียนจะขอขอยกตัวอย่างที่ใช้จริงในการเขียนข่าวเพื่อการประชาสัมพันธ์ ของสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ๒ แบบ ด้วยกัน ดังต่อไป

  1. การเขียนข่าวที่เกิดขั้นแล้ว เช่น ข่าวกิจกรรมต่างๆ ของหน่วยงานที่มีไปแล้ว ซึ่งการเขียนข่าวลักษณะนี้ สำนักวิทบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศเลือกใช้มากที่สุด
  2. การเขียนข่าวที่ยังไม่เกิดขึ้น เป็นลักษณะข่าวล่วงหน้า บอกความเป็นอนาคตคาดว่าจะเกิด ข่าวประเภทนี้ถ้ามองให้ลึกซึ้งส่วนใหญ่จะเป็นข่าวเชิงรุก หรือข่าว Pro Active ข่าวประเภทนี้เป็นส่วนหนึ่งที่จะทาให้องค์กรของสามารถเป็นที่ยอมรับนับถือได้เป็นอย่างดี

  รูปแบบการเขียนข่าว

  รูปแบบการเขียนข่าวเพื่อการประชาสัมพันธ์ ของสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยทั่วไปการเขียนข่าวจะมีองค์ประกอบ 3 ส่วน ได้แก่

  1. พาดหัวข่าวหรือโปรยหัวข่าว (headline)
  2. วรรคนำ เป็นการสรุปเรื่องราว (lead)
  3. เนื้อข่าว เป็นรายละเอียดของเหตุการณ์และเรื่องราว (detail)

นอกจากนี้รูปแบบการเขียนข่าวทั่วๆ ไป ไม่ว่าข่าวหนังสือพิมพ์ หรือข่าววิทยุโทรทัศน์ มี 3 รูปแบบ ซึ่งใช้ในรูปแบบของข่าวที่แตกต่างกันดังนี้

  • แบบปิรามิดหัวกลับ (inverted pyramid) เป็นการนำเสนอข่าวโดยลำดับประเด็นสำคัญจากมากไปหาน้อย ซึ่งสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ในการอยากรู้อยากเห็นสิ่งสำคัญก่อน ส่วนรายละเอียดไว้ทีหลัง ประกอบด้วย ข่าวพาดหัว วรรคนำ ส่วนเชื่อม และส่วนของเนื้อเรื่อง เรียงตามลำดับความสำคัญ

ข้อแนะนำ : การเขียนข่าว แบบปิรามิดหัวกลับ (inverted pyramid) เป็นการเขียนข่าว เริ่มด้วยความนำที่เป็นประเด็นสำคัญของเรื่อง และส่วนเชื่อมที่โยงความสัมพันธ์ระหว่างความนำกับเนื้อหา ที่มีความสำคัญรองลงมา ส่วนเนื้อหา จะเป็นส่วนประกอบที่ให้รายละเอียดของเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมด

  • แบบปิระมิดหัวตั้ง (upright pyramid) จะเรียงลำดับข้อมูลที่มีความสำคัญน้อยไปหามากที่สุด (climax) เพื่อให้ผู้อ่านมีความอยากรู้ เริ่มจากประเด็นที่ไม่มีความสำคัญมากนัก แล้วค่อยๆ เพิ่มประเด็นที่สำคัญขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงประเด็นสำคัญที่สุด มักจะใช้ในเรื่องที่มีเงื่อนงำ เชิงสืบสวน สอบสวน ปัจจุบันไม่นิยมใช้

ข้อแนะนำ : แบบปิระมิดหัวตั้ง (upright pyramid) เริ่มจากประเด็นที่ไม่มีความสำคัญมากนัก แล้วค่อยๆ เพิ่มประเด็นที่สำคัญขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงประเด็นสำคัญที่สุด มักจะใช้ในเรื่องที่มีเงื่อนงำ เชิงสืบสวน สอบสวน ปัจจุบันไม่นิยมใช้


  • แบบสี่เหลี่ยมผืนผ้าทรงยืนแบบผสม (combination) มักใช้เขียนข่าวที่ไม่ค่อยสำคัญ เป็นข่าวสั้นๆ เริ่มจากส่วนเชื่อม หรือจากเนื้อเรื่องข่าว หลังจากพาดหัวข่าวแล้ว ไม่มีความนำ


องค์ประกอบการเขียนข่าวเพื่อการประชาสัมพันธ์

  • พาดหัวข่าว (headline) เป็นการบอกประเด็นสำคัญของข่าว มักใช้ประโยคที่เป็นข้อความสั้นๆ เพื่อช่วยให้รู้ว่าเป็นข่าวอะไร และมีประเด็นใดน่าสนใจ วิธีการพาดหัวข่าวให้พิจารณาความสำคัญของข่าวนั้นๆ ว่าใคร ทำอะไร เมื่อไร ที่ไหน อย่างไร และทำไมจึงทำเช่นนั้น

ข้อแนะนำ : ความสำคัญของข่าวเท่าเทียมกัน ตั้งแต่ต้นจนจบเนื้อเรื่องของข่าว มักจะเขียนแบบเสนอข้อเท็จจริง

ตัวอย่างการเขียนพาดหัวข่าว (headline) แบบต่างๆ

 - แบบ Who นำ

ตัวอย่าง : "นายกรัฐมนตรีประชุมชี้แจงเจ้าหน้าที่ ศอ.บต.” "แฝดสยามเพศหญิงเสียชีวิตแล้ว” "กกต.ยืนกรานห้ามจดใหม่ พรรคถูกยุบ”

- แบบ What นำ

ตัวอย่าง : "เกิดเพลิงไหม้ที่ย่านชุมชนกลางตลาด” ซึ่งส่วนใหญ่ความสำคัญของข่าวอยู่ที่ การกระทำและผลกระทบ

- แบบ When นำ

ตัวอย่าง : "31 พ.ค.ชี้ชะตายุบพรรค” ซึ่งข่าวนี้ความสำคัญอยู่ที่เงื่อนไขของเวลา

- แบบ Where นำ

ตัวอย่าง : เช่น "เชียงใหม่กลายเป็นเมืองในหมอกจากไฟป่า” ซึ่งคุณค่าของข่าวอยู่ที่สถานที่

- แบบ How นำ

ตัวอย่าง : "อยากได้มือถือรุ่นใหม่ วัยรุ่นหาเงินด้วยการขายตัว” ความสำคัญของข่าวอยู่ที่ความเป็นเหตุเป็นผล

- แบบ Why นำ

ตัวอย่าง : "เร่งหาสาเหตุหนุ่มคลั่งยิงกราด 3 ศพ กลางตลาดไท” ความสำคัญของข่าวอยู่ที่การตั้งข้อสังเกต เพื่อเพิ่มความอยากรู้ อยากเห็น

  • วรรคนำ เป็นประเด็นสำคัญของเรื่อง คือต้องตอบสนองความสนใจของผู้อ่านว่า (Who What When Where Why How)

ข้อแนะนำ : การเขียนวรรคนำ ควรเขียนด้วยประโยคสรุปเรื่องหรือสรุปประเด็นสำคัญและกระชับ เพื่อขยายพาดหัวข่าว มีความยาวประมาณ 3-6 ประโยค

ตัวอย่าง "นายดำยืนกรานพรรคถูกยุบจดชื่อเดิมไม่ได้ ทนายบอก แม้วพร้อมแก้ปัญหา หาก พรรคแดง.ถูกยุบ ด้านประธาน คมช.ติวเข้มตำรวจ-ทหาร สั่งห้ามใช้อาวุธรับมือม๊อบ”

  • ส่วนเชื่อม เป็นตัวเชื่อมระหว่างวรรคนำกับเนื้อข่าว

ข้อแนะนำ : ส่วนใหญ่เป็นข้อความที่ขยายประเด็นของเรื่อง จะมีหรือไม่มีก็ได้ มักใช้กับข่าวใหญ่

ตัวอย่าง เช่น "ทั้งนี้เป็นการประชุมลับ ห้ามไม่ให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในห้องประชุมคณะอนุกรรมการ”

  • เนื้อข่าว เป็นการบอกเรื่องที่เหลือจากที่บอกไว้แล้วในวรรคนำ หรือขยายความ หรือช่วยให้วรรคนำได้ใจความชัดเจนขึ้น

ข้อแนะนำ : เนื้อข่าวต้องเป็นข้อเท็จจริงที่สนับสนุน เป็นเรื่องราวทั้งหมดของข่าวที่ตอบคำถาม 5 W และ 1 H มี 2 - 5 ย่อหน้าตามความเหมาะสม โดยย่อหน้าแรกๆ เป็นรายละเอียดตามวรรคนำ ย่อหน้าสอง อ้างคำพูดผู้ให้สัมภาษณ์ หรือผู้บริหาร เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ ย่อหน้าสุดท้าย เสริมข้อมูลเฉพาะที่จำเป็น

ตัวอย่าง : " จากรายงานของ World Economic Forum 2025 ภัยสงครามไซเบอร์ ถูกจัดอยู่ใน อันดับที่ 5 ของภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจโลก ทำให้หลายประเทศให้ความสำคัญกับการพัฒนามาตรการป้องกันด้านไซเบอร์ รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการรับมือภัยไซเบอร์ทุกระดับ ตั้งแต่ โครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ ไปจนถึง การพัฒนาบุคลากร โดยมุ่งเน้นเสริมสร้างทักษะด้านไซเบอร์ให้กับประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนและบุคลากรที่เกี่ยวข้องหนึ่งในโครงการสำคัญคือ Prime Minister Awards: Thailand Cybersecurity Excellence Awards ที่เชิดชูองค์กรที่มีบทบาทโดดเด่นด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ โดยรางวัลแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ Best Performance Award – องค์กรที่มีผลงานโดดเด่นในการป้องกันและรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ Most Contribution Award – องค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถด้านไซเบอร์ของประเทศ และSpecial Awards – องค์กรที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในอุตสาหกรรมความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ นอกจากนี้ยังมีการแข่งขัน Thailand Cyber Top Talent 2024 และ Women Thailand Cyber Top Talent 2024 เพื่อค้นหาและพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพด้านไซเบอร์ โครงการเหล่านี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการเสริมสร้างศักยภาพทางไซเบอร์ของประเทศ "

  • ทิ้งท้ายข่าว เป็นการสรุปประเด็นเพื่อดึงดูดความสนใจ ตอกย้ำจุดหมาย

ข้อแนะนำ : การเขียนข่าวส่วนของทิ้งท้ายข่าว ส่วนใหญ่มี ความยาวประมาณ 4-6 ประโยค หรือ อาจขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ที่เชื่อมเนื้อหาข่าวที่ประกอบกัน จากเรื่องราวทั้งหมดของข่าวที่ตอบคำถาม 5 W และ 1 H นั้นๆ

ตัวอย่าง : "เชิญร่วมกิจกรรมวันงดสูบบุหรี่โลก ในวันที่ 12 มีนาคม นี้ และร่วมกันทำความดีถวายในหลวงด้วยการงดสูบบุหรี่”

ตัวอย่าง แบบฟอร์ม การเขียนข่าว และการเผยแพร่ข่าวเพื่อการประชาสัมพันธ์ ของสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

ข้อเสนอแนะ : เพิ่มเติม  

  1. สำหรับการนำภาพนิ่งไปใช้ เพื่อการเผยแพร่ งานข่าวเพื่อการประชาสัมพันธ์บนเว็บไซต์ควรมีการขนาดความละเอียดของภาพ ให้ขนาดที่เล็กลง ก่อนนำไปเผยแพร่ โดยการแสดงผลหน้าจอคอมพิวเตอร์ทั่วไป จะใช้ความละเอียดของภาพเพียง 72 Dpi โดยสามารถทำการลดความละเอียดของภาพจากโปรแกรมที่มีทั่วไป ขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติงานเลือกใช้
  2. ข้อควรระวังในการเขียนข่าวเพื่อการประชาสัมพันธ์ ที่ผู้ปฏิบัติงานควรทราบ ดังนี้
  • การระบุชื่อบุคคล ต้องระบุให้ชัดเจนทั้งชื่อ สกุล และตำแหน่ง หากมียศหรือบรรดาศักดิ์ ก็ต้องใส่ให้ถูกต้อง แต่เมื่อเอ่ยถึงบุคคลนั้นเป็นครั้งที่สาม ให้ใช้สรรพนามที่เป็นบรรดาศักดิ์หรือตำแหน่งแทน
  • ยศ ตำแหน่ง ต้องระบุให้ตรงกับความเป็นจริงขณะนั้น เช่น อดีตผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ
  • คำนำหน้าชื่อ และบรรดาศักดิ์ การเขียนชื่อเฉพาะที่อ่านยากๆ หรือคำศัพท์บางคำที่ไม่คุ้นตา ควรวงเล็บคำ อ่านให้ชัดเจน เพื่อผู้อ่านข่าว จะได้ออกเสียงไม่ผิดพลาด ต้องระบุเรียงลำดับให้ถูกต้อง
  • การใช้อักษรย่อ หรือตัวย่อต่างๆ ควรตรวจสอบให้ดี
  • ไม่สอดแทรกความคิดเห็นส่วนตัวเข้าไป
  • การเขียนตัวเลขที่ต่ำกว่า 10 ให้เขียนเป็นตัวหนังสือ เลข 10 - 999 ให้เขียนเป็นตัวเลข และเลขตั้งแต่ 1,000 ขึ้นไป ให้เขียนเป็นตัวหนังสือ กรณีตัวเลขมีรายระเอียดมากเกินไปให้ใช้วิธีประมาณการ
  • เมื่อต้องมีการให้ผู้อ่านเว้นจังหวะในการอ่านข่าวจากต้นฉบับ ให้ใช้เครื่องหาย // คั่นไว้

............................................................................................................................................

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

  • คู่มือการใช้งานระบบจัดการเว็บไซต์ มทร.ล้านนา SITERMUTL เอกสารประกอบการอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย

 (5-6 กันยายน 2559) สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จัดทำโดย.งานพัฒนาระบบสารสนเทศ สำนักวิทยาบริการฯ

มทร.ล้านนา

  • นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ และคณะ. (2543).เหยี่ยวข่าวภาคประชาชน .เชียงใหม่: บีเอสการพิมพ์.
  • วีรนิจ ทรรทรานนท์. (2548). รู้ลึกเรื่องกล้องดิจิตอล รู้จริงเรื่องการถ่ายภาพ. กรุงเทพมหานคร: บริษัทซัคเซส มีเดีย จำกัด
  • สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา. (๒๐๒๓). เกี่ยวกับ...., สืบค้นเมื่อ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๖. จาก https://arit.rmutl.ac.th/
  • กรมประชาสัมพันธ์. (๒๐๒๓). สืบค้นเมื่อ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๖. จาก www/prd.go.th




บทความนี้มีประโยชน์หรือไม่? (4)
Share
Share Facbook Share Twitter
 

e-Profile RMUTL

เว็บไซต์สำหรับแสดงโปรไฟล์ ผลงาน และข้อมูลวิชาการของบุคลากร

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา